เตือนภัยประกาศรับสมัครงานออนไลน์

📌ประกาศรับสมัครงานออนไลน์จำนวนมาก โดยมีการแอบอ้างว่ารับรองโดยกระทรวงแรงงาน หรือหน่วยงานอื่น ๆ จากรัฐบาล และมีการใช้ตราสัญลักษณ์กรมการจัดหางาน และมีค่าตอบแทนที่สูงมาก เน้นจ่ายเป็นรายวัน ยอดหลักร้อยถึงหลักพันนั้น มีการแพร่ระบาดโพสต์ลักษณะนี้ หากพบข้อสังเกตุดังต่อไปนี้
1️⃣บริษัทที่ไม่ได้สมัครงามติดต่อมาเอง ฃ
อย่างหนึ่งที่ใช้สังเกตได้ว่าเป็นมิจฉาฉีพออนไลน์แฝงตัวมาในรูปแบบของบริษัท คือ มีบริษัทที่ไม่ได้สมัครงานไปแต่ติดต่อมาเพื่อขอข้อมูล แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นบริษัทที่สนใจในโปรไฟล์ของเราจริงๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นให้ตั้งสติ และสอบถามกลับไปว่าเป็นตำแหน่งงานอะไร ใช่ตำแหน่งงานหรือสายงานที่เรามองหาหรือไม่
2️⃣เวลาทำงานน้อย งานง่าย ได้เงินสูงเกินจริง
เข้าใจว่าเรื่องเงินเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนเราทำงาน ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง ลองดูว่าภาระงาน ตำแหน่งงานรวมถึงประสบการณ์การทำงานของเรานั้นควรมีเงินเดือนอยู่ในระดับไหน หรือหากไม่แน่ใจสามารถคำนวนฐานเงินเดือนได้ด้วย หากเงินเดือนที่เสนอมาสูงเกินไป และเนื้องานง่ายเกินจริง ให้สันนิษฐานก่อนว่าอาจเป็นมิจฉาชีพได้ แต่หากตัวเรามีสกิลด้านอื่นหรือเฉพาะทาง ก็อาจทำให้ได้ข้อเสนอเงินเดือนสูงกว่าตลาดแรงงานได้เช่นกัน
3️⃣ให้โอนเงินก่อน
รับสมัครงานแต่ต้องให้โอนเงินไปก่อน ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใดๆก็ตาม ก็ไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนได้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพ
4️⃣รับเข้าทำงานง่ายเกินไป
อะไรง่ายที่ดูง่ายเกินไปจำเป็นต้องไตร่ตรองให้ดี การสมัครงานก็เช่นเดียวกัน บริษัทไหนที่ติดต่อมาแบบให้เข้าทำงานได้เลย ไม่ผ่านการสัมภาษณ์ แถมให้เข้าเริ่มงานได้ทันที ควรตั้งข้อสังเกตว่าไม่ใช่บริษัทจริงและอาจเป็นมิจฉาชีพได้ นอกจากนี้ควรสอบถามเหตุผลและรายละเอียดของงานก่อนที่จะตัดสินใจให้ข้อมูลต่างๆ และหากมีการระบุชื่อบริษัท เบื้องต้นให้นำไปค้นหาข้อมูลการจดทะเบียน
วิธีตรวจสอบบริษัทปลอม
เช็กข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคล บนแอปพลิเคชั่น DBD e-Service ของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้ที่ เว็บไซต์ของกรมสรรพากร เพื่อดูว่าบริษัทนั้นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
5️⃣ติดต่อผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการและใช้ภาษาไม่เป็นทางการ
ช่องทางการติดต่อก็แสดงถึงความเป็นมืออาชีพขององค์กรนั้นๆ ได้ โดยปกติฝ่ายบุคคลจะไม่ติดต่อผู้สมัครในครั้งแรกด้วย LINE, Messenger หรือช่องทางโซเชียลมีเดีย หากมีการติดต่อมาให้นำชื่อบริษัทนั้นไปค้นหาใน Google ก่อนเบื้องต้น นอกจากนี้ควรสังเกตลักษณะการสอบถามข้อมูล รวมถึงภาษาที่ใช้สนทนาว่ามีความผิดปกและไม่เป็นทางการ การสะกดคำ หรือการเรียงประโยคไม่เหมาะสม
6️⃣หลอกว่าจ้างไปทำงานต่างประเทศ
การขายฝันคนทำงานด้วยการไปทำงานต่างประเทศ มักเป็นกลยุทธ์ที่มิจฉาชีพใช้หลอกเหยื่ออยู่บ่อยๆ อย่างแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การไปทำงานต่างประเทศอาจจะได้ค่าแรงที่สูงก็จริง แต่จะต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามระเบียบกรมแรงงานและขั้นตอนของบริษัท หากมีการขอข้อมูลที่ผิดปกติหรือรหัสผ่านอื่นๆ รวมถึงการเรียกเก็บเงินเบื้องต้น ให้สันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพ
👉เจอข้อสังเกตุเหล่านี้ให้เอ๊ะ…แล้วก็ระมัดระวังไว้ก่อนเลยนะคะ เพราะมีโอกาสสูงที่จะเป็นมิจฉาชีพได้ค่ะ‼